"Fiat Justitia Et Pereat Mundus, Fiat Justitia Ruat Caelum"

Friday 22 August 2008

"..คนหนุ่มสาว..."

“คนหนุ่มสาว…”
เสียงเบาๆ เหมือนเสียงกระซิบจากปากของหญิงชราคนหนึ่ง...เธอกล่าวขึ้นขณะที่กำลังละเลียดละไมกับเสี้ยนหมากพลูบนตั่งไม้โบราณในโถงบ้านที่เธออยู่มากว่าครึ่งศตวรรษ



-๑-
กำเนิด


เสียงร้องไห้งอแงของทารกเพศชายดังจ้า หญิงวัย ๕๐ คนหนึ่งกำลังพะว้าพะวนกับการโอ๋หลานรักของเธอ...หลานชายคนที่สอง...ทายาทเพศชายที่โบราณถือกันว่าจะเป็นหน้าเป็นตาของบ้านของเรือน...เธอเองก็เคยมีลูกชาย แต่เธอคงสั่งสมบุญไว้ไม่มากนัก ลูกชายของเธอทั้งสองจึงจากไปตั้งแต่ยังไม่โตเป็นหนุ่มทั้งคู่...เธอเหลือลูกสาวอยู่สามคน แต่ด้วยฐานะ และความเชื่อของบรรพบุรุษ เธอจึงส่งเสียลูกสาวทั้งสามจนจบการศึกษาขั้นสูงสุดได้รับราชการระดับผู้บังคับบัญชาทุกคน

และนี่ก็อีก...เธอคิด...หลานชายของเธอก็เช่นกัน เขาจะเติบโตและยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าคนนายคน สมฐานะ ชาติตระกูล และเกียรติประวัติที่บรรพบุรุษได้สั่งสมกันมา

“ให้ได้ขี่ช้างกางร่มเป็นพญา ให้มีบารมีเทียมฟ้าเป็นเจ้าคนนายคน…”



-๒-
เด็กน้อย


หลายชายของเธอเรียนจบประถมศึกษาแล้ว เขาดูเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย มีความซนตามวัยเป็นตัวชี้วัดความร่าเริงของเขา อุปนิสัยใจคอจัดเป็นเด็กช่างจำ ช่างถาม อยากรู้ อยากเห็น จนหลายๆ คนนอกจากจะเอ็นดูแล้วยังแอบหมั่นไส้ ทั้งผลการเรียนที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของระดับตลอด พลอยทำให้ผู้ที่เป็นยายอย่างเธอยินดีทุกครั้งที่กล่าวถึงเขา เธอพร่ำสอนให้เขารู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีที่สั่งสอนมา จะพูดจะจาก็คะขาจ๊ะจ๋า ด้านการเรียนเธอก็จัดหาพี่เลี้ยงมาอบรมสั่งสอนและให้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่เธอคิดว่าดีที่สุด

เด็กน้อยสนใจธรรมะธรรมโมไม่แพ้ผู้เป็นยาย...เขาตื่นแต่เช้ามานั่งรอยายและไปใส่บาตรด้วยกันทุกเช้า เป็นเพื่อนคนแก่ไปฟังธรรมที่วัดทุกวันพระ...

“บุญรักษาเถอะตาน้อย....”





-๓-
เด็กชาย


เขากำลังเรียนมัธยมศึกษา...หลานรักของยายกำลังจะผ่านเข้าสู่วัยหนุ่ม หน้าตาคมคาย ส่วนสูงพอตัว เขายังสรวลเสเฮฮาตามแบบที่เขาเคยเป็น กลับจากโรงเรียนมักจะตรงรี่มาหายายของเขา...มานอนหนุนตักยาย ฟังเรื่องที่ยายเล่า...ยายสอน “พ่อแม่ยายสอนมาอย่างนี้”...เขามักจะเป็นคนพูดตอนจบของเรื่องที่ยายเล่าด้วยน้ำเสียงล้อเลียนทุกครั้ง แต่ยายก็มีความสุข...จะมีเด็กวัยนี้สักกี่คนที่ทนฟังคนแก่พูดเรื่องเก่าๆ โบราณๆ แบบเด็กคนนี้สักกี่คน ...เด็กหนุ่มที่ชอบฟังเพลงไทยเดิมที่ยายเล่น ชอบอาหารแบบดั้งเดิมที่ยายปรุง เด็กมัธยมที่มักนั่งอ่านหนังสือรอส่งเสียง “ฮะ..ครับ..ค่ะ...ว่าไรนะยาย” เป็นเด็กคนเดียวอยู่ท่ามกลางวงสนทนาของคนเฒ่าคนแก่วัยเลขหกเลขเจ็ด

ลูกสาวและลูกเขยเธออยากให้เขาเรียนหมอ ผู้ใหญ่หลายคนจะเอาเขาไปเป็นทหาร ป้าของเขาจะให้เขาไปอยู่ต่างประเทศ...แต่เธอจะตามใจหลานชายคนนี้ เขาจะต้องได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ...เธอฝากความหวังไว้ที่หลายชายคนกลางนี้...เธอไม่อยากให้เขาไปไหน ให้อยู่ตามใจคนแก่ที่นี่...

“ตั้งใจเรียนสอบเข้าที่ดีๆ กลับมาเป็นใหญ่เป็นโตที่บ้านเรา อยู่ใกล้ๆ ยายนะ…”



-๔-
วัยหนุ่ม


หลานยายเปลี่ยนไปหลายอย่าง...เธอเองก็ไม่เคยเลี้ยงเด็กผู้ชาย โดยเฉพาะวัยหนุ่ม ตั้งแต่เขาเรียนชั้นปลาย เขากลับบ้านเกือบรุ่งสางทุกวัน ไม่ค่อยได้ตื่นมาใส่บาตรทำบุญกับยาย วันหยุดก็มีเพื่อนฝูงขับรถมารับ แต่เขาก็ยังยายจ๊ะยายจ๋าเหมือนเดิม ทุกครั้งที่เขาอยู่ที่บ้านถ้าไม่นอนเหมือนสลบ ก็ยังมานอนหนุนตักยาย ช่วยยายเจียนเสี้ยนหมากพลู ปรุงน้ำอบน้ำร่ำเหมือนเดิม แต่เด็กหนุ่มเริ่มสนใจซักไซ้ถามยายในเรื่องที่แปลกๆ ไป เรื่องที่ยายตามไม่ทันหรือไม่ทันคิด แต่ส่วนใหญ่เด็กหนุ่มมักจะไปกับเพื่อน ไปในที่ๆ เธอตามไปไม่ถึง...จนเขาจะจบชั้นมัธยมเขาขอให้ยายไปคุยกับลูกสาวลูกเขย...เขาอยากเรียนศิลปะ หรือไม่ก็เรียนกฎหมาย...พอเธอถามเหตุผลจากเขา เขาได้แต่นิ่งเงียบตามองไปที่กองหนังสือของเขา หรือไม่ก็ก้มศีรษะไม่สบตาเธอ เป็นอย่างนี้ทุกครั้งเหมือนตอนที่เขากำลังใช้ความคิด

“กลับมาหายายบ่อยๆ นะตาน้อย...อย่าหลงแสงสีเสียล่ะ”



-๕-
เติบโต


เขาจากเธอไปเรียนมหาวิทยาลัย...ตอนที่เขาก้าวขาขึ้นรถครั้งนั้น หัวใจของยายแทบโผตามเขาไปด้วย...หลานรักของยายต้องจากยายไปไกลอีกแล้ว แววตาของหลานที่เหมือนจะดูเด็ดเดี่ยวมั่นคง ...ช่วงแรกๆ หลายชายกลับไปหาเธอเกือบทุกวันหยุดก็ว่าได้ เวลาผ่านไปเธอก็จะติดต่อหลายได้แต่ทางโทรศัพท์สัปดาห์ละหนสองหน หรือไปรษณียบัตรที่หลานส่งมาหาบ่อยๆ ...และเมื่อผ่านไปพักใหญ่ๆ หลายชายก็ส่งข่าวมาหาเธอเพียงเดือนละครั้ง กลับมาให้เธอกอดเธอหอมปีๆ หนึ่งนับครั้งได้ แต่ละครั้งก็รีบมารีบกลับ
หลายชายเธอเปลี่ยนไปทั้งสีหน้า แววตา น้ำเสียง คำพูด การกระทำ และ...ความคิด

สังคมภายนอกทำอะไรกับเขา...ทุกๆ ครั้งที่เธอได้คุยกับเขา...เขาพูดถึงแต่ประเด็นเพื่อมวลชน การกดขี่ พูดถึงความสุขเวลาที่เขาได้ออกค่ายพัฒนา ความรู้ใหม่ๆ ที่เขาได้แลกเปลี่ยนกับแรงงาน การตำหนิติเตียนคนบางจำพวก เวลาว่างเขาเอาแต่นั่งเขียนหนังสือที่เธออ่านแล้วตกใจกับแนวคิด ภาษาที่แข็งกระด้าง ประชดประชัน ...ที่สำคัญที่สุดเขาทะเลาะกับพี่ชายของเขาเสียยกใหญ่ตอนที่ถกกันในประเด็นการเมืองตามข่าวในโทรทัศน์...เขาไม่เคยเป็นแบบนี้...หลายชายที่อ่อนน้อมของเธอหายไป

“ไปอยู่กับดินกินกับทราย..ระวังสุขภาพนะเด็กเอ๊ย”



-๖-
สูญเสีย


บ้านที่เธออยู่มากว่าครึ่งศตวรรษเงียบเหงา

ไร้เสียงหัวเราะที่มาจากความร่าเริงแจ่มใสของคนหนุ่มสาว

หลายชายของเธอจากไปแล้ว...ถ้าจากไปจริงๆ เธออาจจะทำใจได้มากกว่า แต่เขาจากไปเพียงตัวตนที่เคยเป็น ...เธอได้เด็กหนุ่มคนหนึ่งมาแทนที่ เด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตเกินวัยที่ควรจะใช้ เด็กหนุ่มที่สูญเสียสิ่งที่คนวัยเดียวกันควรจะมี...เสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่แสร้งหลอก แววตาที่ครุ่นคิดและมุ่งมั่น จากเด็กที่ตั้งใจเรียนกลายเป็นเด็กที่ขลุกอยู่กับฝุ่นกับดิน กับอะไรๆ ที่ลูกสาวและลูกเขยเธอเรียกว่า “กิจกรรมไร้สาระ หาเรื่องโดดเรียนไปวันๆ” …เธอน้ำตาซึมทุกครั้งที่เจอหลานชาย เขาซูบและดำคล้ำลงทุกวัน แต่งตัวเหมือนพวกที่ไม่มีคนดูแลเสื้อผ้าให้...

เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างไร..สุขภาพก็ไม่ดีมาตั้งแต่เด็กๆ แววตาที่มุ่งมั่นนั่นก็เจือความเศร้า ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา...แต่ทุกครั้งที่เขากลับมานอนหนุนตักเธอ เขามักจะเล่าถึงวีรกรรมของเขาด้วยความมุ่งมั่น และรีบเผ่นกลับมหาวิทยาลัยทุกครั้งที่ลูกสาวเธอรู้ว่าเขากลับบ้าน เขาบอกว่าแม่ไม่เข้าใจเขา...เขากำลังทำงานตอบแทนบุญคุณอยู่... บุญคุณของชาวไร่ ชาวนา แรงงาน ตาสี ตาสาทั้งหลาย ...ยายฟังสิ่งที่เขาอยากทำแต่ละครั้งก็อดใจหายและเป็นห่วงไม่ได้...เด็กหนุ่มตัวน้อยๆ ของยายจะไปทำอะไรได้...ทำไมหลานยายไม่รีบเรียนหนังสือให้จบ กลับมาอยู่กับยาย


ถ้าหลานเรียนจบแล้วไปทำงานทำการอย่างที่หลานบอกจริงๆ...แล้วยายแก่ๆ คนนี้ล่ะจะอยู่กับใคร ใครจะนอนหนุนตักยายส่งเสียงจ๊ะจ๋า ใครจะช่วยยายเจียนหมาก ชวนยายเข้าครัว...


เธอได้แต่น้ำตาซึมเวลาคิดถึงหลานสุดที่รักของเธอ
เธอเสียหลานเธอให้ใครไปก็ไม่รู้...


บางที...เธออาจจะทำบุญมาไม่มากพอ หรือไม่เธอก็อาจจะพลาดไปตอนที่เขาเกิด...



“…ครั้นได้ขี่ช้างกางร่มเป็นพญา จงอย่าลืมชาวนาขี่ควายคอนกล้า
ครั้นใหญ่โตปีกกล้าทะยานฟ้า แก่ชราเลี้ยงมาเฒ่าเฝ้าคอย…”


.......สักวันหลานชายคงกลับมาตอบแทนบุญคุณของเธอบ้าง.......

๐๕/๐๗/๒๕๕๑
๐๒:๔๔:๓๐ น.